คุณทราบไหมว่า แทนซาไนท์มีแหล่งกำเนิดอยู่เพียงแหล่งเดียว คือ ที่ประเทศแทนซาเนีย เท่าที่ทราบก็มีเพียงสองแห่งในแทนซาเนีย คือ ที่เลลาทีมาและเหมืองเมียร์ลานี แต่เหมืองเมียร์ลานีเห็นจะเป็นแห่งเดียวที่มีชื่อเสียงมาก เพราะแทนซาไนท์ที่นี่มีสีที่สวยสดงดงามและมีมากสีด้วย เมือที่อยู่ใกล้กับเหมืองเมียร์ลานีมากที่สุด คือ เมืองอรูชา ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 50 กิโลเมตร ใครก็ตามที่จะเดินทางมายังเหมือง จะต้องมาตั้งต้นที่เมืองอรูชาด้วยกันทั้งนั้น เหมืองเมียร์ลานีนี้ ตั้งอยู่ในเทือกเขาอูซูมบูรูทางตอนเหนือของประเทศ อยู่ระหว่างหุบเขาโอลดูไว กอร์จและคิลิมันจาโรที่รู้จักกันเป็นอย่างดี เป็นที่ราบกว้างและแห้งแล้ง มีเทือกเขาขนาดเล็กพาดผ่านไปมา และเป็นที่ตั้งรกรากของเผ่ามาไซ ภาพที่นักทัศนศึกษาจะพบเป็นอยู่บ่อยๆ ระหว่างการเดินทาง คงจะเป็นภาพเด็กชายผิวดำตัวเล็กๆ คนสองคนเดินทอดน่องเลี้ยงวัวฝูงใหญ่ ช่างต่างกับต้นไม้ที่ทีอยู่น้อยนิดหย่อมละต้นสองต้นเสียเหลือเกิน แห้งแล้งอย่างนี้ไม่รู้ฝูงวัวมันกินอะไรกันหนอ เพื่อพยุงร่างที่ผอมเกร็งพอๆกับคนเลี้ยงของมัน สงสัยจัง !
ที่เหมืองเมียร์ลานีจะมีผู้รักษาความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะจุดสำคัญๆภายในเหมือง ผู้รักษาการณ์แต่ละคนพกทั้งปืนสั้นและปืนยาว เพื่อคอยดูแลความเป็นไปภายในเหมือง เพราะคนงานที่นี่แต่ละคนมีสารพัดกลเม็ดเด็ดพราย ที่จะขโมยพลอย คือ ถ้าไม่กลืนลงท้องก็จะโยนเข้าไปในพุ่มไม้ แล้วค่อยไปเก็บเอาที่หลัง..... ก็ทั้งแพงทั้งสวยอย่างนี้ ใครจะไปห้ามใจไหว
มีพลอยสีน้ำเงินอยู่หลายชนิดที่ดูคล้ายกับไพลิน แต่ที่ดูเหมือนกันมากจนแยกแยะไม่ออก เห็นจะเป็นแทนซาไนท์นี่เอง คิดดูก็แล้วกันว่าในสมัยที่พบแทนซาไนท์เป็นครั้งแรกนั้น ยังคิดกันว่ามันเป็นไพลินด้วยซ้ำไป ถึงขนาดตั้งชื่อให้กับมันว่า ”ไพลินเมรู” เสียดื้อๆอย่างนั้นแหละ ที่พ่วงคำว่า “เมรู” ไว้ด้วยนั้น ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าหมายถึงอะไร ยอมรับว่าไปค้นหาคำตอบแล้ว แต่ก็ไร้ผล แล้วก็ไม่อยากจะเดาด้วยว่ามันหมายถึงอะไร
แทนซาไนท์ เป็นพลอยสีน้ำเงินที่จัดอยู่ในกลุ่ม “ซอยไซท์” ซึ่งรวมเอาพลอยสีต่างๆไว้ด้วยในกลุ่มเดียวกัน เช่น เทา เขียว น้ำตาล น้ำเงิน ม่วง ม่วงแดง หรือที่เรียกว่า “แทนซาไนท์” ที่ไร้สี หรือที่มีสีชมพูหรือเหลือง จะเรียกว่า “ทูไลท์” และที่เรียกว่า “มาสซิฟกรีน ซอยไซท์” คือ ซอยไซท์สีเขียวที่มีทับทิมปนอยู่
คำว่า “ซอยไซท์” ได้มาจากชื่อของนักสะสมพลอยชาวเช็คโก ชื่อ “บารอนซอยส์ วอน อีเดลสไตน์” ผู้ ซึ่งนำซอยไซท์ก้อนแรกที่ได้มาจากเขาซอเอลป์ในออสเตรีย ปี 1805 ไปให้ อับราฮัม กอทท์ลอบ เวอร์เนอร์ นักธรณีวิทยาชื่อดังชาวเยอรมันคนหนึ่งทำการตรวจสอบ จึงทราบว่าเป็นซอยไซท์ชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ไพลินอย่างที่คาดคิด คำว่า “ทูไลท์” ได้มาจากคำว่า “ทูล” ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบซอยไซท์สีชมพู ในประเทศนอร์เวย์ ส่วน “แทนซาไนท์” คงเดากันออกว่า ได้มาจากชื่อประเทศ “แทนซาเนีย”
ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าบุคคลแรกที่พบแทนซาเนียเป็นใครกันแน่ บ้างก็ว่าเป็นคนเลี้ยงแกะ บ้างก็ว่าเป็นนายเซาซา หรืออาจเป็นได้ว่า นายเซาซาได้แทนซาไนท์ก้อนแรกมาจากคนเลี้ยงแกะ กล่าวกันว่าในเดือนมีนาคมของปี 1966 นายเซาซา ช่างเจียระไนพลอย ชาวอรูชา (บ้างก็ว่าเป็นช่างตัดเสื้อ) ได้ส่งแทนซาไนท์ก้อนแรกนั้นไปตรวจสอบ ซึ่งก็ทราบภายหลังว่าเป็นซอยไซท์ชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ไพลินอย่างที่สงสัยกัน แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่นายเซาซา ต้องมาประสบกับอุบัติเหตุจนเสียชีวิต โดยที่ยังไม่ได้รับผลประโยชน์จากแทนซาไนท์ก้อนแรกแต่อย่างใด ในทางการค้านั้น ไม่มีใครยอมเรียกมันว่าซอยไซท์สีน้ำเงิน เพราะเชื่อกันว่าเป็นชื่ออัปมงคล และในขณะเดียวกันกับชื่อบริษัท ทิฟฟานี กำลังจะผลักดันพลอนชนิดใหม่นี้ออกสู่ตลาดอยู่พอดี จึงได้โปรโมทพลอยชนิดใหม่นี้อย่างเต็มที่ ทำให้เป็นข่าวใหญ่ทางหน้าหนังสือพิมพ์จนเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในอเมริกาเองและในยุโรป
นอกจากจะมีสีน้ำเงินที่สวยงามคล้ายไพลินแล้ว แทนซาไนท์ก็ยังปรากฏให้เห็นเหลือบสีต่างๆ อีกด้วย ถ้าพลิกไปมาในหลายทิศทาง เช่น อาจปรากฏเป็นสีน้ำเงิน ม่วงอมแดง ม่วงเข้ม เหลืองอมเขียว น้ำตาล น้ำตาลอมแดง หรืออาจมีสีอมเทา แทนซาไนท์ที่มีช่วงสีน้ำทะเลแบบอะคัวมารีนจนถึงสีน้ำเงินเข้มแบบไพลิน จะมีค่ามากที่สุด และถ้าส่องดูใต้ดวงไฟจะมีสีออกม่วงแบบอะมิทิสต์
การหุงอาจทำให้แทนซาไนท์เปลี่ยนสีได้ และอาจมีสีน้ำเงินเข้มขึ้น แต่เหลือบสีต่างๆที่เคยปรากฏอาจเลือนหายไป เช่น ถ้านำแทนซาไนท์ที่มีสีออกเหลืองและน้ำตาลไปหุงที่อุณหภูมิ 400-500 C ทั้งสั้หลืองและสีน้ำตาลจะหายไป แต่กลับจะทำให้มันมีสีน้ำเงินเข้มขึ้น และถ้านำผลึกแทนซาไนท์ที่มีสีม่วงอมแดง ไปหุงที่ 620 C มันก็อาจเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินม่วงสดหรือน้ำเงินเข้มอย่างไพลินได้
ข้อพึงระวังประการหนึ่งสำหรับแทนซาไนท์ ก็คือ มันค่อนข้างอ่อน (6-6.5) และเปราะ ทำให้แตกง่าย ไม่ควรทำเป็นแหวนเพราะอาจเกิดการกระทบกระแทกได้ง่าย น่าจะทำเป็นตุ้มหู จี้หรือเข็มกลัดจะปลอดภัยกว่า อย่างไรก็ตามถ้าเปรียบเทียบกับซอยไซท์สีอื่นๆแล้ว แทนซาไนท์จะมีความแข็งมากที่สุด มันมีความวาวแบบแก้วและโปร่งใส และที่ต้องระวังเป็นพิเศษก็คือ ห้าทนำแทนซาไนท์ไปทำความสะอาดในเครื่องอุลตร้าโซนิค เพราะแรงสั่นสะเทือนอาจทำให้แทนซาไนท์แตกได้
โดยปกติแล้วจะมีพลอยสีน้ำเงินอยู่อย่างมากมายในท้องตลาด ความสับสนจึงอาจเกิดขึ้นได้ แต่การตรวจสอบคุณสมบัติเพียงบางประการก็ทราบถึงข้อแตกต่างได้แล้ว เช่น ถ้าเปรียบเทียบกับคอร์ไดไรท์แล้ว มันจะมีค่าดัชนีหักเหของแสง และค่าความถ่วงจำเพาะสูงกว่าคอร์ไดไรท์อยู่มาก หรือถ้าจะเปรียบเทียบกับไพลินละก็ แทนซาไนท์จะวาวน้อยกว่าและอ่อนกว่ามาก ค้าดัชนีหักเหของแสงของพลอยทั้งสองชนิดก็ต่างกันมากด้วย และเมื่อพลิกพลอยทั้งสองชนิดไปมาในหลายทิศทางแล้ว มันก็จะปรากฏมีเหลือบสีที่ต่างกันอีกด้วย ทั้งนี้มิได้หมายความว่าแทนซาไนท์ไม่งดงามเท่าไพลิน ในทางตรงกันข้าม เมื่อพลิกแทนซาไนท์ไปมา มันจะปรากฏให้เห็นเหลือบสีต่างๆตั้งหลายสี ซึ่งไม่ปรากฏในไพลิน
นอกจากจะเกดความสับสนกับพลอยชนิดอื่นแล้ว ก็อาจเกิดความสับสนกับแทนซาไนท์ปลอมหรือแทนซาไนท์เลียนแบบได้ ของเทียมที่ว่าอาจเป็นแก้วสีน้ำเงิน หรืออาจเป็นดับเบล็ทส์ที่มีส่วนบนเป็นแทนซาไนท์จริง แต่ส่วนล่างเป็นแก้วหรือเป็นสปิเนลสังเคราะห์ทั้งเม็ดก็ได้
ก็ทราบกันอยู่แล้วว่า ตำหนิภายในถือเป็นเรื่องธรรมดาของพลอยแทนซาไนท์ที่มีตำหนิ จึงถือเป็นเป็นเรื่องธรรมดาเช่นกัน แต่ก็นับได้ว่าแทนซาไนท์เป็นพลอยที่ค่อนข้างสะอาดและสะอาดกว่าไพลิน แอคติโนไลท์ กราไฟท์ และสะทอโรไลท์ คือตำหนิที่อาจปรากฏอยู่ในแทนซาไนท์เม้ดใดก็ได้ และเมื่อมีตำหนิแบบเส้นใยปนอยู่ แทนซาไนท์จะปรากฏเป็นตาแมว แต่ก็หาได้ยากมาก ใครที่อยากเห็นและหาดูไหนๆไม่มี ก็อย่าเพิ่งท้อ ที่พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน เขาก็มีให้ดู ขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ ประมาณ 18.2 กะรัต
ถ้าเปรียบเทียบกันพลอยในกลุ่มเดียวกันแล้ว แทนซาไนท์จะเจียระไนได้ขนาดที่ใหญ่กว่า ในปัจจุบันเม็ดที่สะอาดและเจียระไนแล้วและมีขนาดตั้งแต่ 2 กะรัตขึ้นไปก็หาได้ยากมากแล้ว ซึ่งต่างจากช่วงแรกที่เพิ่งมีการค้นพบ ในช่วงนั้นที่สะอาดและมีขนาดตั้งแต่ 20 ถึง 50 กะรัตก็ไม่ใช่เรื่องแปลก และส่วนใหญ่จะตกอยู่ในมือของนักสะสมและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ที่พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน ก็ไม่เคยน้อยหน้าใครอยู่แล้ว แทนซาไนท์ขนาด 122.7 กะรัต จึงตกไปอยู่ที่นั่น ใครที่แวะไปดูแทนซาไนท์ตาแมวแล้ว ก็อย่าลืมเหลือบดูเม็ด 122.7 กะรัตด้วยก็แล้วกัน ไปทั้งทีดูแค่เม็ดเดียวมันก็กระไรอยู่นะ
ในช่วงแรกที่พบนั้น สามารถหาซื้อแทนซาไนท์ได้ในราคาที่ถูกมาก กะรัตละ 500 บาท ก็หาซื้อได้ง่ายทั้งในแทนซาเนียเอง ในเคนยา และในสหรัฐอเมริกา แต่ในปี 1984 ราคาของแทนซาไนท์เริ่มถีบตัวสูงขึ้น ราคาขายส่งตกกะรัตละ 25,000 บาท หรือแพงกว่า เนื่องจากปริมาณของแทนซาไนท์ในท้องตลาดเริ่มลดน้อยลงทุกที โดยเฉพาะในปี 1978 อหิวาตกโรคได้แพร่ระบาดไปทั่วแทนซาเนียตอนเหนือ ทำให้การทำเหมืองพลอยต่างๆ เช่น ทับทิม โกเมน ซัฟไฟร์ ทัวมาลีน คริโซเพรส และแทนซาไนท์ ต้องประสบกับปัญหาจนส่งผลให้การผลิตลดน้อยลงเป็นอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้นเหมืองมีชื่อต่างๆ ต้องหยุดชะงักลงเพราะปริมาณพลอยที่เคยขุดได้เป็นกอบเป็นกำ ก็ร่อยหรอลงจนไม่มีเหลือให้ขุดอีก
ในปัจจุบันราคาของแทนซาไนท์สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มว่าจะแพงขึ้นเรื่อยๆ เพราะแหล่งแทนซาไนท์ที่มีอยูเพียงแห่งเดียว คือ ที่แทนซาเนียก็ทำท่าว่าจะหมดลงอย่างรวดเร็ว ส่วนแหล่งใหม่ๆก็ไม่มีทีท่าว่าจะพบ ฉะนั้นแทนซาไนท์ที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดในขณะนี้ กำลังรอคอยการจับจองอยู่ ใครที่มีสตางค์ก็น่าจะรีบซื้อเก็บเอาไว้ ประเดี๋ยวนักสะสมมือดีจะมาคว้าเอาไปเสียก่อน....แล้วจะเสียดาย
รายละเอียด: แทนซาไนต์ (Tanzanite)
มีสีน้ำเงินอมเขียว อมน้ำตาล โดยสีเปลี่ยนตามทิศทางผลึก
แทนซาไนต์ (Tanzanite) มีลักษณะคล้ายกับไพลิน (Blue sapphire) มาก แต่แสดงสีแฝดที่เด่นชัดกว่า มีค่าดัชนีหักเห และ ความถ่วงจำเพาะที่ต่ำกว่า อัญมณีที่มีสีเหมือน Tanzanite อีกชนิด คือ Iolite แสดงสีแฝดเด่นชัดเช่นกัน แต่แยกได้โดยมีค่าดัชนีหักเห และ ความถ่วงจำเพาะต่ำกว่า Tanzanite
อยู่ในกลุ่มของ ซอยไซต์ (Zoisite) ซึ่งเป็นแร่ที่มีหลายชนิด ที่จัดเป็นอัญมณี มีสีคล้ายไพลิน โดยสีเกิดจากธาตุ V เป็นอัญมณีที่แสดงสีแฝด (pleochroism) เด่นชัด เกิดในหินแปร โดย แทนซาไนต์ (Tanzanite) พบในหินที่แปรสภาพมาจากหินปูนบริเวณที่แทรกสลับกับหิน Schist
มีความแข็ง (Hardness) = 6.5-7 โมฮส์ (Mohs)
ส่วนประกอบทางเคมี (Chemical Formula) = Ca2Al3O(SiO4)(Si2O7)(OH), Calcium Aluminum Silicate Hydroxide
ดัชนีหักเหของแสง (Refractive Index) = 1.696-1.718
ความถ่วงจำเพาะ (Specific gravity) = 3.3
คัมทรูจิวเวลรี่
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก
นิตยสาร พลอย
ปี 2535 - 2538
แทนซาไนท์ พลอยสีไพลิน
เปิดโลกอัญมณี - อนุรักษ์ พันธุรักษ์